Lifetime Recipe

Lifetime Recipe

ก่อนจะอ่าน...

นี่เป็นบล็อคส่วนตัว สิ่งที่อยากโพสคือสิ่งที่อยากเก็บไว้เป็นความทรงจำ เพราะตัวเองเป็นคนลืมง่าย แม้แต่ช่วงเวลาความสุข ความประทับใจ ผิดกับความเศร้าเสียใจ ที่จำได้ง่ายเหลือเกิน แต่จะพยายามโพสแต่สิ่งที่น่าจดจำที่สุดก็แล้วกัน ...ยินดีต้อนรับสู่โลกของJulie Mค่ะ^^

วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

[วิจารณ์] The Fifth Estate ฐานันดรที่ 5 และ หนังเกี่ยวกับ วิกิลีคส์

The Fifth Estate ฐานันดรที่ 5 และ หนังเกี่ยวกับ วิกิลีคส์



เราเคยติดตามข่าวเกี่ยวกับเว็บไซต์นี้ปีที่แล้ว เห็นว่าเป็นเว็บที่ดึงเอกสารลับจากองค์กรทั่วโลกมาเปิดโปง พวกคอรัปชั่น ฆาตรกรรม สงคราม โดยเฉพาะเอกสาร 5 แสนไฟล์ของ รัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับบันทึกสงครามในอิรัค โดยพลทหารแบรดลีย์ แมนนิ่ง (ต้องเรียกว่าเธอ เพราะนางจะเปลี่ยนชื่อเป็นเชลซีหรืออะไรสักอย่าง) โดยเธอคนนี้เนี่ยเอาข้อมูลส่งให้วิกิลีคส์ ซึ่งก็คือ นายจูเลี่ยน อัสซาจน์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีคส์ จนกลายเป็นข่าวจารกรรมข้อมูลลับที่ใหญ่ที่สุดและดังที่สุดที่มีมาในโลกนี้ จนคนอ่านอย่างเราได้รู้ข่าวสารความเป็นไปของโลกไปด้วย เราเลยนับถือคนนี้เป็นคนที่เปิดวิสัยทัศน์อีกโลกหนึ่งให้เรารู้ว่ายังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราถูกจำกัดให้รับรู้จากการเสพย์ข่าวจากสำนักข่าวหรือจากการแถลงการณ์ขององค์กรนั้นเองจึงเกิดฐานันดรใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือ ฐานันดรที่ 5 (Fifth Estate)

ฐานันดรที่ 5 หรือ Fifth Estate จะเรียกว่ามันเป็น “ชนชั้น” หรือ “สถานะ” ก็ดี แต่ไม่น่าใช่ชนชั้น เราจึงค้นหาข้อมูลนิยามของคำนี้ อ้างอิงจาก วิกิพีเดีย และ poynter.org สรุปได้ว่า ก่อนจะมีฐานันดรที่ 5 จะมี ฐานันดรที่ 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับก่อนซึ่งแต่ละฐานั้นดรจะพูดถึงยุคสมัยของคนสถานะใดที่มีผลกระทบต่อสังคมอยู่จนถึงปัจุบัน   ฐานันดรที่ 1 หมายถึง พระ สังฆราช นักบุญต่างๆ ที่เกิดในยุคแรกๆ ของประวัติศาสตร์ จะมีบทบาทในการตัดสินความดี ความชั่วเป็นหลัก ฐานันดรที่ 2 คือ ชนชั้นสูง กษัตรย์ ราชวงศ์ ผู้ปกครอง เป็นยุคแห่งการครอบครองและมีศักดิ์ มีชนชั้น จึงนำไปสู่ ฐานันดรที่ 3 คือ ชนชั้นกลางหรือผู้ประกอบอาชีพค้าขาย ทหาร พยาบาล ทนายและอื่นๆ ซึ่งเป็นยุคที่เห็นชัดที่สุดในเรื่องการทำมาหากิน ในเมื่อ 3 ฐานันดรแรกก็ปรากฏให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ เราก็คิดว่าองค์ประกอบสังคมก็น่าใกล้จะครบแล้วนะ ขาดอะไรไปเหรอ  นั่นก็คือ สื่อสิ่งพิมพ์ สำนักข่าวทั้งหลาย รวมทั้งรายการโทรทัศน์ วิทยุ ทุกช่องทาง แหล่งข้อมูลข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั้งหลายนั่นเองคือฐานันดรที่ 4 เป็นยุคของสื่ออย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในเมื่อสื่อมีการนำเสนอข้อมูลเฉพาะด้าน เปิดเผยไม่ครบ และจำกัดการรับรู้แก่คนอ่านทั่วไป ทำให้เกิดฐานันดรที่ 5 ขึ้นมาซึ่งเป็นยุคของ นักเขียนข่าวอิสระ บล็อกเกอร์ ตัวแทนสื่อ และ วิสเซิลโบลเวอร์ (คำนี้แปลว่า คนที่เห็นด้านมืดของผู้กระทำและต่อต้านการกระทำอย่างเปิดเผย นิยามโดยความเข้าใจของเรา) อย่าง วิกิลีคส์ และ นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน คนที่เปิดโปงความลับของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และนี่คือที่มานิยามและความเข้าใจง่ายๆ ของชื่อหนังที่เราได้ดู


เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน

 
แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง               จูเลี่ยน อัสซาจน์เรียกร้องให้แมนนิ่งเป็นอิสระ

ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ฐานันดรที่ 4 กับ 5 ยังมีความคล้ายคลึงกันอยู่มากในเมื่อมันก็เป็นสื่อด้วยกันทั้งคู่ แต่ก็มีการจำแนกแยกแยะโดย Jan Leach ผู้เขียน ความแตกต่างของฐานันดรที่ 4 และ 5  สรุปตามความเข้าใจของเราอีกเช่นกัน คือ ฐานันดรที่ 4 จะเป็นสำนักข่าวที่เสนอข่าวตามแบบแผนโดยเสนอข่าวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสารของตนและผู้อ่านส่วนใหญ่จะรับรู้ข่าวสารจากสำนักข่าวหลักๆ หรือพูดง่ายๆ ผู้รับสารสามารถเข้าถึงแหล่งข่าวเหล่านี้ได้มากกว่า ข้อเสียคือบางครั้งเราไม่รู้ว่าสารที่เรารับเรารับครบหรือไม่ ยังมีการ แก้ไขและ ”บิดเบือน” มากแค่ไหนกว่าจะถึงมือเราแถมยังมีไบแอสหรือมีความลำเอียงของผู้สื่อข่าวโดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่เราเห็นกันทุกวัน บางครั้งอาจจะมองได้ว่าเราเป็นคนจำกัดสื่อหรือสื่อเป็นคนจำกัดการรับรู้ของเรากันแน่ จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราควรตระหนักในการรับข่าวสารเช่นกัน ส่งผลฐานันดรที่ 5 แตกต่างจากฐานันดรที่ 4 ตรงที่ ผู้เขียนข่าว ผู้เผยแพร่ข่าว หรือ ตัวแทนสื่อ มักจะเป็นคนที่เราไม่รู้จัก ไม่มีชื่อ แต่เป็นคนคอยเขียนสิ่งที่สื่อจากฐานันดรที่ 4 ไม่ได้พูดถึงเอาไว้ในสาร แม้กระทั่งวิจารณ์การกระทำของบุคคลระดับสูงต่อสาธารณะด้วยเช่นกัน   ดังเช่น ตัวแทนสื่อและวิสเซิลโบลเวอร์อย่าง วิกิลีคส์ที่มีคอนเซปท์ว่า ต้องการเผยแพร่ข้อมูลดิบ นั้นหมายความว่า ไม่มีการ “แก้ไข” เพื่อโอนเอนไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ เพราะฉะนั้น ฐานันดรที่ 5 เป็นฐานันดรที่เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีข้อมูลจากฐานันดรที่ 4 ก่อนเพื่อต่อยอดหรือวิจารณ์หรือค้นหาความจริงจากอีกด้านหนึ่งต่อผู้รับข่าวสารได้ แถมเป็นฐานันดรที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงขององค์ระดับชาติรวมถึงผู้ปกครองเผด็จการอีกด้วย จึงไม่แปลกว่าทำไมนายอัสซาจน์กำลังกลบดานที่สถานฑูตเอกกวาดอร์ประจำลอนดอนและนายสโนว์เดนกำลังกลบดานในประเทศรัสเซียขณะนี้

เบเนดิก คัมเบอร์แบทช์          จูเลี่ยน อัสซาจน์ 

แดเนียล บรูห์
 แดเนียล ชมิท-เบิร์ก

พูดถึงวิกิลีคส์ในหนัง The Fifth Estate ต้องบอกก่อนว่า เรื่องนี้สร้างจากหนังสือ Inside WikiLeaks: My Time with Julian Assange at the World's Most Dangerous Website  ของนายแดเนียล ชมิท-เบิร์กและ WikiLeaks: Inside Julian Assange's War on Secrecy เขียนโดยนายเดวิด เลย์ และนายลุค ฮาร์ดดิ้ง นักเขียนข่าวชาวอังกฤษ 2 คน ที่อัสซาจน์อ้างว่า ”เป็นหนังสือสองเล่มที่ลวงโลก”  ที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็คือหนังสร้างตามมุมมองของคนสร้าง คนเล่าเรื่องนี้คือคนที่อยู่ใกล้ชิดนายอัสซาจน์ขณะที่เริ่มก่อตั้งเว็บไซต์แหล่งเอกสารลับของโลกที่ใหญ่ที่สุด ใครที่ดูแล้วอาจจะมองว่าตกลงเว็บวิกิลีคส์เนี่ย อันตราย หรือ ไม่ดี หรือ เป็นเว็บทำร้ายความมั่นคงของชาติ ของบริษัทอะไรก็แล้วแต่ แต่วิกิลีคส์ก็ยังยึดมั่นความคิดเหมือนเดิมที่เปิดเผยข้อมูลออกไป เมื่อตัวหนังพยายามสร้างให้ลำเอียงและรักษาภาพพจน์ของประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งอย่างมากถ้าเราเห็นชื่อผู้ผลิตหนังก็ไม่จำเป็นต้องสงสัยใดๆ และนายชมิท-เบิร์กตอนหลังในเรื่องไม่ลงรอยกับนายอัสซาจน์ ตอนท้ายหนังจึงมีการแฉเรื่องส่วนตัวของนายอัสซาจน์ บอกเป็นนัยว่า นายอัสซาจน์ก็หลอกลวง 




The movie
The reality

เนื้อเรื่องหลักๆ ในหนังนำเสนอเรื่องความเป็นมาของเว็บวิกิลีคส์และการก่อตั้งเว็บโดยแฮคเกอร์สองคนนี้ แต่คนที่มีอุดมการณ์แข็งแกร่งที่สุดดูจะเป็น นายอัสซาจน์ เจ้าของผมขาวทั้งหัวเอง เขาตั้งเป้าอยากให้คนทั่วโลกรับรู้ข่าวที่เขาไม่เคยรู้ได้ตาสว่าง  ตอนแรกนายชมิท-เบิร์กก็มีอุดมการณ์แบบนั้น การทำงานร่วมกันภายใต้ความคิดปฏิวัติวงการสื่อนั้นอาศัยความกล้าและความหนักแน่นและยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างสุดๆ เราเลยรู้สึกว่าตอนแรกหนังนำเสนอว่าความคิดของสองคนนี้มีเหตุมีผลมากเพียงใด เหตุจูงใจที่ทำให้พวกเขาต้องทุ่มเทบินข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อเพียงให้คนทั้งโลกรับรู้ความจริง ก่อนหน้านั้นก็เปิดโปงข้อมูลฉ้อโกงภายในธนาคารสวิซฯ ธนาคารที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัยระดับโลก และการจราจลในเคนย่า จนถึงจุดพีคของเรื่องคือการเปิดโปงข้อมูลลับสุดยอดของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เอาล่ะสิ อัสซาจน์ไม่รู้ว่าตนกำลังเล่นกับใคร เมื่อเป็นเช่นนี้ ชมิท-เบิร์กเห็นว่าเสี่ยงเกินไปที่จะต่อกรณ์กับประเทศมหาอำนาจนี้จึงคิดว่าไม่ควรเผยแพร่ข้อมูลนี้จึงขอเสนอให้มีการแก้ไขเอกสานโดยเซ็นเซอร์รายชื่อบุคคลในไฟล์เอกสารทั้งหมดไม่งั้นเจ้าหน้าที่ทหารและครอบครัวของพวกเขาอาจได้รับผลกระทบจนเกิดจราจลได้ ส่วนอัสซาจน์ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเบิร์กเพราะเขายังคงยึดมั่นความคิดที่ว่าต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดไม่ขาดไม่เกิดไม่มีการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้นและไม่ยอมให้คนที่ตายในสงครามการจราจลเสียเปล่า สุดท้ายอัสซาจน์ก็ยอมให้เบิร์กเซ็นเซอร์ชื่อทั้งหมดนั้น แต่เบิร์กลืมไปว่ามันมี 91,000 ไฟล์และต้องโพสต์ไฟล์เหล่านั้นในเว็บไซต์ภายใน 4 วัน อัสซาจน์รู้ว่าเขาทำไม่ได้แน่นอนและยังยึดมั่นในความคิดของตนเช่นเดิมว่าต้องน้ำเสนอข้อมูลอย่าง “โปร่งใส” ในขณะที่เบิร์กต้องการปกป้องรายชื่อและแหล่งข่าว(แมนนิ่ง) เหตุนี้อุดมการณ์ที่ตั้งใจไว้แต่แรกกันของทั้งสองกลับสวนทางกันในที่สุด







นอกจากจะนำเสนอเรื่องการทำงานและยังคอยบรรยายให้เห็นนายอัสซาจน์ในมุมมองของเพื่อนร่วมงาน เราจะสังเกตว่า นายอัสซาจน์จะเป็นคนขี้ระแวงและเป็นคนยอมหักไม่ยอมงอกับข้อเสนอจากเพื่อนร่วมงาน แม้กระทั่งไม่ค่อยไว้ใจพวกเขาถึงกับหลอกพวกเขาเหมือนกันเนื่องจากประสบการณ์ในอดีตที่เคยถูกเพื่อนหักหลังจึงกลายเป็นอย่างที่เห็น   เจ้าของหนังสือยังบอกว่า “เขาเป็นบ้า” “สิ่งที่เขาทำมันเสี่ยงเกินไป” เราจึงมองว่าคนเขียนคนนี้พยายามสร้างภาพอัสซาจน์ค่อนไปทางด้านลบ ทั้งเรื่องสีผมที่ไม่น่าเอามากล่าวหาอะไรได้มากนักเพราะเป็นเรื่องส่วนตัวและเรื่องเพื่อนร่วมงานอาสาสมัครที่ไร้ตัวตนซึ่งเราจะไม่เอามายึดเป็นหลักตัดสินคนได้ ฉากหนึ่งในเรื่องเมื่อเขาได้รับเชิญไปทานอาหารร่วมกับพ่อแม่ของเบิร์ก แต่กลับพูดเหน็บพวกเขาที่พวกเขาเอาหนังสือพิมพ์ระดับประเทศว่าเป็น “อนาธิปไตย” หมายความว่าอัสซาจน์ที่อยู่ในกลุ่มฐานันดรที่ 5 ต่อต้าน หนังสือพิมพ์นั้นคือตัวแทนฐานันดรที่ 4  ชัดเจน เมื่อเราดูเรื่องนี้ถึงตอนจบ บทสรุปของหนังสรุปชัดเจนว่า นายอัสซาจน์เป็นภัยร้ายของทั้งประเทศและคนใกล้ตัวมากขนาดไหนโดยในหนังแสดงให้เห็นว่า นายชมิท-เบิร์กหลังจากถูกอัสซาจน์ ”ไล่ออก” เขาจึงทำการลบข้อมูลลับสุดยอดของสหรัฐฯที่อัสซาจน์ได้มากจากแมนนิ่ง จึงทำให้เขากลายเป็น ฮีโร่กลับตัวกลับใจหรืออะไรก็แล้วแต่ไปในทันที และอัสซาจน์ดูเป็นอาชญกรละเมิดข้อมูลส่วนตัวในที่สุด  


ออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง เว็บวิกิลีคส์ก็ไม่ได้ถูกปิดแต่อย่างใด กลับยังล้วง คว้าน และเผยแพร่ข้อมูลลับต่างๆ ในโลกออกมาเสมอจนถึงวันนี้รวมทั้งข้อมูลที่ถูกลบไปโดยเพื่อนร่วมงาน ซึ่งมันผิดแผกกับในหนังที่ไม่ได้สรุปอย่างนั้น กลับสรุปถึงข่าวฉาวและการหลบเลี่ยงCIAของอัสซาจน์ กลายเป็นคนถูกทางการสหรัฐฯหมายหัวและให้คำจำกัดความว่าเป็น “กบฏ” ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่คนอเมริกันสักนิด ถ้ามองถึงอุดมการ์ของอัสซาจน์ เขาจึงกลายเป็นคนที่ไม่ได้มีเจตนาจะเป็น “ปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ” ในมุมมองของฝ่ายตรงข้ามแต่ก็เป็นไปเสียแล้ว หากในความเป็นจริงอีกฟากหนึ่งของโลก มีเสียงอีกจำนวนมากที่ยังสนับสนุนการกระทำของเขา ไม่ได้มีแต่หนังสือของนายแดเนียล ชมิท-เบิร์กที่ออกมาเปิดโปงอัสซาจน์ ยังมีเล่มอื่นๆ ที่เขียนถึงด้านบวกของเขาเช่นกัน แต่หนังกลับไม่เอามาทำ เราจึงเหมารวมว่าเรื่องนี้เน้นทำลายอัสซาจน์มากกว่าจะนำเสนอเว็บวิกิลีคส์จริงจัง




ยังมีรายละเอียดที่สำคัญของเรื่องที่หนังไม่ได้เน้นนำเสนอกลับปล่อยผ่านและเน้นถึงความร้ายกาจของอัสซาจน์มากกว่าและรายละเอียดนั้นก็คือ ความแข็งแกร่งในการยึดมั่นอุดมการณ์ของนายอัสซาจน์ อย่างที่กล่าวไปนั้นเขาศรัทธาในอุดมการณ์มากขนาดไหนและมีอิทธิพลต่อโลกอย่างไร ในหนังคุณจะเห็นจุดนี้ของเขาพร้อมทั้งรักษาความน่าเชื่อถือแก่ผู้ให้ข้อมูลอีกเช่นกัน พูดถึงตรงนี้เลยนึกถึงฉากหนึ่งในเรื่องเมื่อแมนนิ่งผู้ปล่อยข้อมูลลับระดับโลกตกเป็นข่าวบนหน้าเว็บไซต์ อัสซาจน์จึงบอกเพื่อนร่วมทีมให้จ้างทนายคุ้มครองแมนนิ่ง จุดนี้หนังกลับเล่าแบบผ่านไปไม่ได้เน้นแต่อย่างใด กลับไปเน้นตอนที่ อัสซาจน์ กับ เบิร์กถกเรื่องการเปิดเผยข้อมูลในรถไฟใต้ดินที่เบลเยี่ยม และเบิร์กตอบโต้อุดมการณ์ของอัสซาจน์ว่า “ฉันนึกว่าเราต้องการปกป้องแหล่งข้อมูลของเรามากกว่า” น่าสงสัยว่าทั้งเรื่องก็เน้นย้ำโต้งๆ อยู่แล้วว่าอัสซาจน์เน้นการเปิดเผยแบบดิบมากแค่ไหน แต่ใยเบิร์กถึงโต้อัสซาจน์แบบนั้น   




เราอาจจะสงสัยว่าข้อมูลวิกิลีคส์นั้นเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ช่วงต้นของหนังจะเห็นว่าช่วงหนึ่งเว็บไซต์ถูกแบนเพราะให้ข้อมูลเท็จ เป็นอันตราย (นึกถึงเวลาไอซีทีแบนเว็บ) หรืออะไรก็ตามสืบเนื่องจากข่าวคอรัปชั่นของธนาคารสวิซฯ สักพักเว็บไวต์กลับมาออนไลน์ได้อีกครั้ง เห็นได้ชัดว่าข้อมูลที่นำเสนอในเว็บล้วนตรวจสอบและเชื่อถือได้มากที่สุดเพราะข้อมูลที่เปิดเผยล้วนเป็นข้อมูลดิบที่เผยรายชื่อผู้กระทำ ผู้สวมรู้ร่วมคิดในเอกสารทั้งหมดและนำไปใช้เป็นหลักฐานได้จากผู้ที่อาสาปล่อยข่าวที่ไม่ต้องการบอกชื่อ เว็บวิกิลีคส์จึงเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญเว็บหนึ่งที่ทำให้เรารู้จักโลกอีกด้านหนึ่งที่ถูกปิดมานานและไม่ได้อยู่ในกะลาอีกต่อไป และยังมีนโยบายในการปกป้องแหล่งข่าว พูดได้ว่าเป็นทั้งกระบอกเสียงและหน้ากากป้องกันของแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เอ่ยนามเพื่อแบ่งปันข้อมูลแก่เว็บไซต์โดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ


ผลงานที่เรารู้จัก กำกับโดย บิลล์ คอนดอน

ฉากตอนแดเนียลทำงานไป ฟังเพลงอิเลคโทรไป รู้สึกถึงบรรยากาศได้


มามองในมุมมองคนดูหนังที่มีต่อการดำเนินเรื่องและการถ่ายทำของหนัง The Fifth Estate กำกับโดยบิลล์ คอนดอน เจ้าของหนังที่ผ่านมาได้แก่ Dream Girls, Twilight: Breaking Dawn part 1 and 2 เราชอบฝีมือการกำกับของคนนี้ตรงที่เขาจะเน้นการใช้เสียงเพลงได้ดีต่อให้หนังเรื่องนั้นไม่ใช่หนังเพลงก็ตาม ในหนังเราจะเห็นและได้ยินเสียงเพลงแนวเทคโนอิเลคโทรซึ่งเหมาะกับบรรยากาศนักโปรแกรและนักแฮคเกอร์อย่างตัวเอกของเรื่อง สื่อถึงยุคสมัยใหม่ของอินเทอร์เน็ตและวิวัฒนาการเทคโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความคิดที่ก้าวหน้าของนักปฏิวัติของเรื่อง   นอกจากเสียงเพลง เราขอชื่นชมการเปรียบเทียบนามธรรมเป็นรูปธรรมของเรื่อง เรามองว่าเป็นนี่คือจุดเด่นของเรื่องนี้ คอนดอนคงต้องการให้คนดูเข้าใจและเห็นภาพการทำงานของวิกิลีคส์ว่าทำงานกันอย่างไรโดยการจำลองห้องทำงานขนาดใหญ่สุดลูกหูลูกตาของวิกิลีคส์ว่ามีใครทำงานบ้าง รูปแบบลักษณะข้อมูลจากไฟล์ให้เป็นเอกสารกระดาษจัดเก็บอย่างไร ยังไม่พอการดำเนินการตัดต่อนั้นไม่ขาดช่วงเป็นเรื่องเป็นราวดูแล้วเข้าใจ แต่สิ่งที่น่าติอยู่อย่างเดียวดั่งที่กล่าวไว้คือเรื่องการเน้นมุมมองว่าอัสซาจน์ในภาพพจน์ทางลบและไม่ชูส่วนดีของเขากลับเล่าแบบผ่านแล้วผ่านเลย น่าจะเป็นที่มาว่าทำไมคนที่เห็นด้วยกับการกระทำของอัสซาจน์จะไม่ค่อยปลื้มหนังเรื่องนี้มากนัก ยิ่งเห็นคะแนนในIMDB ปัญหาจึงไม่ได้เป็นที่เนื้อเรื่องหรือการถ่ายทำ น่าจะเป็นการเน้นนำเสนออย่างไม่เท่าเทียมและลำเอียงไปทางมุมมองคนเขียนหนังสืออย่างเบิร์กนั่นเอง



ที่ขาดไม่ได้เลยนักแสดงของเรื่อง โดยเฉพาะAntagonistโดยไม่เป็นใจอย่างนายอัสซาจน์ นำแสดงโดย เบเนดิก คัมเบอร์แบทช์ นักแสดงชาวอังกฤษที่ดัง(มากๆและคนเขียนก็ชอบมากๆ) จากบทเชอร์ล็อคในซีรี่ส์อังกฤษชื่อเดียวกัน บทคาน จากเรื่อง สตาร์ เทรค อินทู เดอะ ดาร์คเนส และ มังกรสมอค จากเดอะฮอบบิทภาค 2 นับว่าปีที่แล้วเป็นปีที่เราได้เห็นเขาโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มตลอดปีเลยทีเดียว   บทอัสซาจน์เป็นบทที่ท้าทายสำหรับคัมเบอร์แบทช์เช่นกัน เมื่อเขาต้องการจะศึกษาคาแรกเตอร์ของ จูเลี่ยน อัสซาจน์ เขาได้พยายามติดต่อเจ้าของเว็บวิกิลีคส์ให้ได้แต่ไม่ง่ายนักที่จะติดต่อผู้ที่กลบดานCIAอยู่ โชคช่วยเมื่อนายอัสซาจน์ตัวจริงตอบจดหมายคัมเบอร์แบทช์ด้วยการเตือนแบบหวังดีว่า “เขานั้นเป็นนักแสดงที่มีความสามารถ แต่คุณไม่ควรตกเป็นเครื่องมือให้คนสร้างหนัง” “หนังเรื่องนี้ไม่มีความจริงใดๆ เลย” จูเลี่ยนถึงกล่าวกับคัมเบอร์แบทช์ว่า เขาจะถูกใช้เป็น “ปืนรับจ้าง” อย่างไม่ได้ตั้งใจ เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราได้เห็นอัสซาจน์ตัวจริงต่อต้านระบบสื่อในฐานันดรที่ 4 อย่างไร ถ้าอยากรู้ข่าวเพิ่มเติม สามารถเสิร์ชในยูทูปหรือกูเกิ้ลได้ว่า Assange VS Fifth Estate   นับว่าทำให้คัมเบอร์แบทช์เป็นที่รู้จักในวงการไซเบอร์และวิสเซิลโบลเวอร์กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่อัสซาจน์เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับบทภาพยนตร์ ถึงขั้นต้องเขียนแถลงการณ์ในเว็บกระบอกเสียงของเขา บทภาพยนตร์ที่ทางวิกิลีคส์แถลง ข่าวจากอีกแหล่งก็ได้บอกว่า นักแสดงตัวเอกของเรื่องก็มีปัญหากับบทอัสซาจน์เช่นกัน ต่อให้เขาพูดด้านดีของหนังก็ตามเพราะเป็นอาชีพของเขา เราในฐานะคนดูขอชื่นชมนักแสดงคนนี้ที่เขาพยายามติดต่อเจ้าของเว็บเพื่อสร้างหนัง และอีกอย่างที่รู้สึกทึ่งคือ ทักษะการแสดงที่เราไม่ได้ติดภาพจากบทเชอร์ล็อค หรือ คานเลย พูดง่ายๆ เราดูหนังไปไม่ได้คิดเลยว่าเนี่ยเบเนดิกแสดงอยู่ (555+) และที่น่าทึ่งคือ การพูดภาษาอังกฤษสำเนียงออสเตรเลีย (นายอัสซาจน์เป็นชาวออสเตรเลีย) ถ้าเราเคยฟังหนังฝั่งเกาะอังกฤษกับฝั่งอเมริกาเราจะเห็นความแตกต่างชัดเจน แต่เมื่อเราฟังสำเนียงอังกฤษกับออสเตรเลียอาจจะแยกยาก แต่เมื่อดูเรื่องนี้เลยเห็นความแตกต่างของ 2 สำเนียงชัดเจนโดยสำเนียงออสเตรเลียเหมือนจะเสียงสูงมากกว่าสำเนียงอังกฤษดูเหมือนอยู่ในควานทรี่มากกว่าสำเนียงแบบอังกฤษ

เบเนดิก คัมเบอร์แบทช์ รับบทเป็น เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ในซีรี่ส์เชอร์ล็อก

เบเนดิก คัมเบอร์แบทช์ รับบทเป็น คาน/จอห์น แฮริสสัน ในหนังฟอร์มยักษ์ภาคต่อของ Star Trek

โดยรวมของหนัง เรื่องนี้เป็นหนังเกี่ยวกับวิกิลีคส์ แต่ไม่ได้พูดถึงวิกิลีคส์อย่างที่โปรโมทไว้ จะเน้นการร่วมกันทำงานของอัสซาจน์กับเพื่อนร่วมทีมอย่าง เบิร์กและคนอื่นๆ มากกว่า อันนำไปสู้บทสรุปที่ไม่สวยงามเสียเท่าไร เพราะฉะนั้นหนัง The Fifth Estate เรื่องนี้เหมาะกับผู้ที่อยากรู้การทำงานของวิกิลีคส์หรือเบื้องหลัง “อีกมุม” เล่าโดยมุมมองคนร่วมงาน และแนะนำอย่างยิ่งว่าควรศึกษาข่าวเกี่ยวกับวิกิลีคส์และนายจูเลี่ยน อัสซาจน์ก่อนที่จะรับชมเรื่องนี้จะได้ไม่เสียอรรถรสและติดตามและเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น ถ้าเราจะให้คะแนนเต็มสิบ เราจะเทคะแนนให้กับผู้กำกับ 8.2/10 อย่างที่กล่าวเหตุผลไว้ข้างต้น นักแสดง 8.5/10 เนื่องจากเราไปดูการพูดของนายอัสซาจน์ตัวจริง ไม่ได้เป็นอย่างในเรื่อง แต่ก็นะ หนังควรเน้นอารมณ์มากกว่า น้ำเสียงการพูดของนักแสดงจึงถูกสร้างให้น่าดึงดูดและมีอารมณ์ร่วมด้วยตามแบบฉบับของหนัง และเนื้อเรื่อง 6.5/10 อย่างไม่ต้องสงสัย ที่น่าเสียดายที่สุดคือถ้าผู้กำกับและคนเขียนบทจะเน้นความสำคัญของตัวละครอย่างเท่าเทียมกันโดนไม่โอนเอนไปฝั่งมุมมองคนเขียนหนังสือ หนังเรื่องนี้จะกลายเป็นหนังวิกิลีคส์ที่ไม่ใช่แอนตี้วิกิลีคส์อย่างที่ว่ากันในโลกออนไลน์ แต่อย่างไรก็ดี ทีมผู้สร้างก็ต้องคำนึงถึงสัญชาติของค่ายหนังและเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงของเจ้าของประเทศอยู่ดี ไม่เช่นนั้น The Fifth Estate จะกลายเป็นหนังแอนตี้สหรัฐฯ แทนได้


J.M.


-------------------------------------------------------------------------------------------------------

references:
en.wikipedia.org/wiki/Fifth_Estate
en.wikipedia.org/wiki/Estates_of_the_Realm
en.wikipedia.org/wiki/The_Fifth_Estate_(film)
wikileaks.org
wikileaks.org/The-Fifth-Estate.html
www.poynter.org/latest-news/top-stories/98781/balloon-boy-story-reveals-differences-between-fourth-and-fifth-estates
www.newstalk.ie/Benedict-Cumberbatch-defends-his-role-in-The-Fifth-Estate
www.newstalk.ie/Julian-Assange-vs-The-Fifth-Estate-
en.wikipedia.org/wiki/Estates_of_the_Realm
www.youtube.com/watch?v=5yB3n9fu-rM
en.wikipedia.org/wiki/Daniel_Domscheit-Berg
imdb.com
rjmorwood.wordpress.com

Images: Google.com

วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

ท า ง เ ลื อ ก

ไหนๆ เรียนจบแล้วก็ขอพักผ่อนใช้เวลาทบทวนชีวิตตัวเองก่อน เด็กจบใหม่หลายคนและส่วนใหญ่(คิดว่า)ตอนนี้ เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วกำลังหางานกันแน่นอนทันที ชีวิตสู่โลกแห่งความเป็นจริงเริ่มขึ้นแล้ว สิ่งแรกที่เราคิดเรื่องการหางานหลังเรียนจบเป็นเรื่องที่เราค่อนข้างกังวลเหมือนกัน แล้วมาคิดอีกทีว่าทำไมต้องกังวลว่าเราจะไม่ได้งาน หรือไม่ได้เงิน หรือเพราะกลัวถูกข้างบ้านมองว่า จบมายังหางานทำไม่ได้ หรือโดนมองว่า พวกความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด พอมองดีๆ เราไม่ได้แคร์เรื่องพวกนั้น เงินก็มี ชีวิตประจำวันก็ไม่ได้ใช้สอยอะไรมากเงินเหลือก็เก็บ เรื่องถูกดูถูกก็ไม่ได้เอามาใส่หัว แต่ก็โดนแอบกดดันนิดหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว ปัญหาตอนนี้อยู่ที่การเตรียมตัว ถึงเรียนจบและจะสมัครงาน มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่เราจำเป็นต้องมองให้ดี ไม่ว่าจะเรื่องความชอบความสนใจว่าเราอยากทำงานอะไร แบบไหน บรรยากาศยังไง เรายอมให้เวลาพิจารณากับเรื่องพวกนี้มาก เหมือนตอนที่แอดมิชชั่นเลือกคณะ 4 ลำดับ อันนั้นก็คิดนานเหมือนกัน ผลลัพธ์เราได้เรียนในสิ่งที่ชอบ

มาคิด มาเตรียมหลังจบเรียนไม่สายไปไหน่อยเหรอ เราถามตัวเองแบบนั้นหลายครั้งแล้วก็ตอบเหมือนเดิมว่า เราคิดแบบนี้มาเป็นปีแล้ว แต่รู้อะไรไหม การทำตามใจตัวเองก็เป็นเรื่องยาก และเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งเหมือนกัน การจะแยกความชอบของเราออกจากความจำเป็นจากความเห็นคนอื่น น่ะ กว่าจะชั่งน้ำหนักว่าเราจะเอาชีวิตตามในแบบของเราหรือให้ผู้ใหญ่กำหนดชีวิตเรา บางครั้งความคาดหวังจากผู้ใหญ่ถือเป็นเรื่องดีตรงที่เราได้รับการสนับสนุน ไม่ใช่โดนบังคับให้ทำงานหรือเป็นในสิ่งที่เราไม่ได้ถนัดหรือชอบ เพราะงั้นกว่าจะแยกแยะตรงนั้นก็กว่าจะเคลียร์ได้มาถึงชีวิตตอนนี้ คำพูดเดียวที่พ่อบอกและทำให้เราสบายใจสุดคือ ตอนนี้ชีวิตแค่เริ่มต้น เรื่องหางานไม่ได้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่จำเป็นต้องคิดจนตัวตาย ถ้าจะเสียเวลาปีนึงเพราะไม่มีที่ทำงาน ก็เอาเวลาตรงนั้นมาพัฒนาตัวเราและเตรียมพร้อมรับมือให้มากขึ้น ชีวิตเพิ่งแค่เริ่มต้นเท่านั้น ชีวิตเรายังอยู่อีกนาน ในอนาคตอาจจะมีอีกหลายหนทางเข้ามาให้เราเลือกอีกก็ได้ เพราะงั้นอย่ามองแค่ว่าเราจะโดนใครมองอะไรยังไง เป็นคำสอนที่ทำให้เรามองหาสิ่งที่เราอยากทำชัดเจนกว่าเดิม

สิ่งที่เราอยากทำคือการเป็นนักแปลภาษา อยากแปลนู่นนั่นนี่ แต่หลักๆ อยากแปลบทความบันเทิง ข่าวไลฟ์สไตล์ วรรณกรรมเด็กหรือนิทานมากกว่าเอกสารบทความ แต่ไม่ได้ไม่ชอบ แค่ถนัดและมีความชอบส่วนตัวกับพวกบทความบันเทิง อะไรทำนองนั้นมากกว่า ทีนี้เราคงไม่เอามาเป็นอาชีพหลัก ทำได้แค่เป็นเพียงงานอดิเรกเท่านั้น ส่วนงานหลักนี่จะทำอะไรยังไม่รู้เลยนอกจากงานพวกเลขาฯ แถมไม่ใช่สิ่งที่เราถนัดนี่ล่ะคือปัญหา การจบเอกอังกฤษมา ถ้าไม่มีความรู้เรื่องศาสตร์อื่นๆ ก็เอามาประยุกต์ใช้ได้ไม่มากกว่าคนที่เรียนภาษาอังกฤษประกอบกับวิชาที่เอาไปประยุกต์กับงานได้เช่นการจัดงาน การแปล การท่องเที่ยวโรงแรมและอื่นๆ เราโทแปลแท้ๆ แต่คิดว่าสิ่งที่เรียนยังไม่พอ แถมเอามาเป็นอาชีพหลักยากถ้าไม่มีประสบการณ์ผ่านผลงานมาหลากหลายรูปแบบแล้วล่ะก็ ทำเป็นงานประจำยาก และฟรีแลนซ์ถ้าไม่ขึ้นกับสังกัดไหนก็ดี แต่เราจำเป็นต้องชำนาญการแปลมากกว่านี้จริงๆ ระหว่างนี้ก็ขอใช้เวลาไปการแปลและงานอื่นๆ ทำงานเลี้ยงชีพระหว่างหาความสนใจที่เราชอบจริงๆ เสียก่อนนะ

J.M.

วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

ทฤษฎี "Kübler-Ross model" ใน You Who Came from the Stars



"Kübler-Ross model" or five steps of grief mentioned in You Who Came from the Stars
ทฤษฎีคับเบลอร์-รอส หรือ 5 ขั้นเมื่อเผชิญกับความเศร้า ที่ถูกกล่าวในเรื่อง ชายผู้มาจากดวงดาว (ออกแนวมีสาระนิดนึง)



I got this psychological theory while watching You Who Came from the Stars. I heard To Min Joon mentioned the theory, Kübler-Ross model, after he had refused to tell his true feeling to Cheon Song Yi. And the series showed Song Yi's processed reactions as per the theory humorously and respectively. Then I got to find more explanation on it and found it useful to deal the hard situation step by step.

เพิ่งสังเกตว่าในเรื่องโทมินจุนยกทฤษฎีทางจิตวิทยาของคับเบลอ-รอส มา เป็นทฤษฎีเกี่ยวการเผชิญกับความเศร้าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เหมือนที่โทเมเนเจอร์พูดไว้ในเรื่องหลังจากที่เจ๊ซงอีสารภาพความรู้สึกแบบหมดเปลือกให้โทเมเนเจอร์ฟัง ซีรี่ส์ก็ตัดฉากอธิบายทฤษฎีนี้สลับกับฉากนางเอกประกอบเป็นตัวอย่างทีละขั้นอย่างตลกขบขำ ก็เลยคิดว่า เจ้าทฤษฎีนี้น่าจะได้ประโยชน์ถึงขั้นต้องหาข้อมูลมาอ่านเพิ่มเติม

The theory explains on how people could face after they experience trauma in everyday life whether from death or break up. By observing people who have this illness, Kübler-Ross conclude the expecting results into five process that people normally encounter.

ทฤษฎีของคับเบลอ-รอสกล่าวถึงว่า ผู้คนเผชิญหน้ากับความผิดหวัง ความเศร้าโศกในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิต หรือ เลิกคบกับแฟน โดยพวกเขาจะฝ่าฟันมันไปอย่างไร เพราะฉะนั้น เจ้าของทฤษฎีก็ได้สังเกตพฤติกรรมของคนเหล่านี้และสรุปออกมาได้ 5 ขั้น 5 แบบที่คนเหล่านั้นแสดงอาการออกมา

Perharps, in my case, after paying attention the theory, psychologically, I see that I have passed the last step so far that I understand that my past was really proceeded according to the five steps of grief. No wonder that how hard to go through those incidents and I feel lucky finding this article which is very helpful to find the solutions.

บางที อย่างเราพอได้อ่านทฤษฎีนี้ เพิ่งรู้ว่าเราเพิ่งผ่านขั้นตอนสุดท้ายมาหมาดๆ พอมองย้อนกลับมา มันก็จริงที่เราผ่านตามขั้นตอนทั้ง 5 มาได้ เลยไม่แปลกใจ แถมโชคดีที่มาเจอทฤษฎีนี้ ทำให้ค้นพบวิธีรับมือกับอาการทีละขั้นได้

However, the series must have confused the two first steps. Actually, the step of denial comes before of anger. Otherwise, the production might purposely intend to swap them or they were accidentally mistaken.

อย่างไรก็ตาม เราจับผิดซีรี่ส์ได้อย่างนึงคือ มันเรียงขั้นตอนผิด จริงๆ ขั้นแรกต้องเป็น ไม่ยอมรับความจริง แล้วค่อย โกรธ แต่ไม่ว่ากัน ถ้าคิดในอีกแง่ ซีรี่ส์อาจจะตั้งใจสลับไม่ว่าจะเหตุผลอะไร หรือเพราะความผิดพลาดของทางผู้เขียนบท

Here are the five steps of grief.
5ขั้น เมื่อเผชิญกับความเศร้า


Denial = ไม่ยอมรับความจริง


"What?! Is he crazy? What an alien on Earth!"

Anger = โกรธ โมโห

                           
"You idiot! I'm gonna make you pay off! "

Bargaining = การปลอบใจตัวเอง

"Actually, he's not my type I wanna date with."
Depression = ความซึมเศร้า


"I'm not crying. The tears just flow out."

Acceptance = การยอมรับ

"I'm gonna be the prettiest woman and make you regret all of this!"



Generally, facing dilemnma should be consequently done in the patterned process so that those people will be healed step by step in each step. The more you express your emotion regarding five steps, the faster you will be cured from dilemna. That's why we should hurrily accept the unresolved problem and move on.

โดยปกติแล้ว การเผชิญหน้าควรเป็นไปตามขั้นตอนตามลำดับเพื่อคนเราจะได้หายจากอาการทั้ง5ให้เร็วที่สุด ยิ่งถ้าเราแสดงอาการตาม 5 ขั้นมากขึ้น อาการเราก็จะฟื้นฟูเร็วมากขึ้นจากความเศร้าที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะฉะนั้น เราควรรีบยอมรับปัญหาที่ไม่มีทางแก้ไขให้เร็วและเดินหน้าต่อไป


 

Meanwhile, women and men get the different results. Tending to get a better life, women upgrade herself by improving individuals or finding a better guy she's ever dated. Unlike women, men will be more sorrowful than women ... (somehow and not everyone, I guess)

อย่างไรก็ดี ผู้หญิงกับผู้ชายได้รับผลกระทบต่างกัน คือ ผู้หญิงมีแนวโน้มฟื้นฟูเร็วกว่า ปรับปรุงตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะ พัฒนาตัวเองให้ดูดีหรือหาผู้ชายที่ดีกว่าคนเก่า แต่ผู้ชายมีแนวโน้มตรงกันข้าม อาจจะเศร้ามากกว่าผู้หญิง (ซึ่งเราไม่รู้ว่าจริงรึป่าว)




To get over, if we are in the middle of these steps, don't worry. Just express out what you should do and feel in order to relieve yourself soon. Pretending not to feel is not the real remedy. It even extends your trauma and last for long time. Therefore, to say again, accept it and move on.

ถ้าเรายังอยู่ในช่วง5ขั้นนี้ ขอให้พึงรู้ไว้ว่า อย่าไปกังวล แค่ระบายความรู้สึกพวกนั้นออกมา จะได้หายจากการประสบปัญหาที่แก้ไม่ได้พวกนั้น และการเสแสร้งหรือหลอกตัวเองว่าไม่เป็นไรไม่ใช่วิธีแก้ที่แท้จริง เพราะมันยิ่งทำให้เวลา 5 ขั้นนั้นยืดเยื้อนานออกไปอีก เพราะงั้น ย้ำอีกรอบ รีบยอมรับและเดินหน้าชีวิตต่อไปดีกว่า




ปล. ไม่ได้ตั้งใจแปลให้ตรงเป๊ะ ก็ขออภัยด้วยJ.M.

sources:
wikipedia.org
You Who Came from the Stars episode 13, aired on 29 January 2014
lucidchart.com
kodhit

Melody of My Life

ผู้ติดตาม