Lifetime Recipe

Lifetime Recipe

ก่อนจะอ่าน...

นี่เป็นบล็อคส่วนตัว สิ่งที่อยากโพสคือสิ่งที่อยากเก็บไว้เป็นความทรงจำ เพราะตัวเองเป็นคนลืมง่าย แม้แต่ช่วงเวลาความสุข ความประทับใจ ผิดกับความเศร้าเสียใจ ที่จำได้ง่ายเหลือเกิน แต่จะพยายามโพสแต่สิ่งที่น่าจดจำที่สุดก็แล้วกัน ...ยินดีต้อนรับสู่โลกของJulie Mค่ะ^^

วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

[วิจารณ์] The Fifth Estate ฐานันดรที่ 5 และ หนังเกี่ยวกับ วิกิลีคส์

The Fifth Estate ฐานันดรที่ 5 และ หนังเกี่ยวกับ วิกิลีคส์



เราเคยติดตามข่าวเกี่ยวกับเว็บไซต์นี้ปีที่แล้ว เห็นว่าเป็นเว็บที่ดึงเอกสารลับจากองค์กรทั่วโลกมาเปิดโปง พวกคอรัปชั่น ฆาตรกรรม สงคราม โดยเฉพาะเอกสาร 5 แสนไฟล์ของ รัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับบันทึกสงครามในอิรัค โดยพลทหารแบรดลีย์ แมนนิ่ง (ต้องเรียกว่าเธอ เพราะนางจะเปลี่ยนชื่อเป็นเชลซีหรืออะไรสักอย่าง) โดยเธอคนนี้เนี่ยเอาข้อมูลส่งให้วิกิลีคส์ ซึ่งก็คือ นายจูเลี่ยน อัสซาจน์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีคส์ จนกลายเป็นข่าวจารกรรมข้อมูลลับที่ใหญ่ที่สุดและดังที่สุดที่มีมาในโลกนี้ จนคนอ่านอย่างเราได้รู้ข่าวสารความเป็นไปของโลกไปด้วย เราเลยนับถือคนนี้เป็นคนที่เปิดวิสัยทัศน์อีกโลกหนึ่งให้เรารู้ว่ายังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราถูกจำกัดให้รับรู้จากการเสพย์ข่าวจากสำนักข่าวหรือจากการแถลงการณ์ขององค์กรนั้นเองจึงเกิดฐานันดรใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือ ฐานันดรที่ 5 (Fifth Estate)

ฐานันดรที่ 5 หรือ Fifth Estate จะเรียกว่ามันเป็น “ชนชั้น” หรือ “สถานะ” ก็ดี แต่ไม่น่าใช่ชนชั้น เราจึงค้นหาข้อมูลนิยามของคำนี้ อ้างอิงจาก วิกิพีเดีย และ poynter.org สรุปได้ว่า ก่อนจะมีฐานันดรที่ 5 จะมี ฐานันดรที่ 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับก่อนซึ่งแต่ละฐานั้นดรจะพูดถึงยุคสมัยของคนสถานะใดที่มีผลกระทบต่อสังคมอยู่จนถึงปัจุบัน   ฐานันดรที่ 1 หมายถึง พระ สังฆราช นักบุญต่างๆ ที่เกิดในยุคแรกๆ ของประวัติศาสตร์ จะมีบทบาทในการตัดสินความดี ความชั่วเป็นหลัก ฐานันดรที่ 2 คือ ชนชั้นสูง กษัตรย์ ราชวงศ์ ผู้ปกครอง เป็นยุคแห่งการครอบครองและมีศักดิ์ มีชนชั้น จึงนำไปสู่ ฐานันดรที่ 3 คือ ชนชั้นกลางหรือผู้ประกอบอาชีพค้าขาย ทหาร พยาบาล ทนายและอื่นๆ ซึ่งเป็นยุคที่เห็นชัดที่สุดในเรื่องการทำมาหากิน ในเมื่อ 3 ฐานันดรแรกก็ปรากฏให้เห็นจนถึงทุกวันนี้ เราก็คิดว่าองค์ประกอบสังคมก็น่าใกล้จะครบแล้วนะ ขาดอะไรไปเหรอ  นั่นก็คือ สื่อสิ่งพิมพ์ สำนักข่าวทั้งหลาย รวมทั้งรายการโทรทัศน์ วิทยุ ทุกช่องทาง แหล่งข้อมูลข่าวสารที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนทั้งหลายนั่นเองคือฐานันดรที่ 4 เป็นยุคของสื่ออย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในเมื่อสื่อมีการนำเสนอข้อมูลเฉพาะด้าน เปิดเผยไม่ครบ และจำกัดการรับรู้แก่คนอ่านทั่วไป ทำให้เกิดฐานันดรที่ 5 ขึ้นมาซึ่งเป็นยุคของ นักเขียนข่าวอิสระ บล็อกเกอร์ ตัวแทนสื่อ และ วิสเซิลโบลเวอร์ (คำนี้แปลว่า คนที่เห็นด้านมืดของผู้กระทำและต่อต้านการกระทำอย่างเปิดเผย นิยามโดยความเข้าใจของเรา) อย่าง วิกิลีคส์ และ นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน คนที่เปิดโปงความลับของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และนี่คือที่มานิยามและความเข้าใจง่ายๆ ของชื่อหนังที่เราได้ดู


เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน

 
แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง               จูเลี่ยน อัสซาจน์เรียกร้องให้แมนนิ่งเป็นอิสระ

ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ฐานันดรที่ 4 กับ 5 ยังมีความคล้ายคลึงกันอยู่มากในเมื่อมันก็เป็นสื่อด้วยกันทั้งคู่ แต่ก็มีการจำแนกแยกแยะโดย Jan Leach ผู้เขียน ความแตกต่างของฐานันดรที่ 4 และ 5  สรุปตามความเข้าใจของเราอีกเช่นกัน คือ ฐานันดรที่ 4 จะเป็นสำนักข่าวที่เสนอข่าวตามแบบแผนโดยเสนอข่าวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสารของตนและผู้อ่านส่วนใหญ่จะรับรู้ข่าวสารจากสำนักข่าวหลักๆ หรือพูดง่ายๆ ผู้รับสารสามารถเข้าถึงแหล่งข่าวเหล่านี้ได้มากกว่า ข้อเสียคือบางครั้งเราไม่รู้ว่าสารที่เรารับเรารับครบหรือไม่ ยังมีการ แก้ไขและ ”บิดเบือน” มากแค่ไหนกว่าจะถึงมือเราแถมยังมีไบแอสหรือมีความลำเอียงของผู้สื่อข่าวโดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่เราเห็นกันทุกวัน บางครั้งอาจจะมองได้ว่าเราเป็นคนจำกัดสื่อหรือสื่อเป็นคนจำกัดการรับรู้ของเรากันแน่ จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราควรตระหนักในการรับข่าวสารเช่นกัน ส่งผลฐานันดรที่ 5 แตกต่างจากฐานันดรที่ 4 ตรงที่ ผู้เขียนข่าว ผู้เผยแพร่ข่าว หรือ ตัวแทนสื่อ มักจะเป็นคนที่เราไม่รู้จัก ไม่มีชื่อ แต่เป็นคนคอยเขียนสิ่งที่สื่อจากฐานันดรที่ 4 ไม่ได้พูดถึงเอาไว้ในสาร แม้กระทั่งวิจารณ์การกระทำของบุคคลระดับสูงต่อสาธารณะด้วยเช่นกัน   ดังเช่น ตัวแทนสื่อและวิสเซิลโบลเวอร์อย่าง วิกิลีคส์ที่มีคอนเซปท์ว่า ต้องการเผยแพร่ข้อมูลดิบ นั้นหมายความว่า ไม่มีการ “แก้ไข” เพื่อโอนเอนไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ เพราะฉะนั้น ฐานันดรที่ 5 เป็นฐานันดรที่เกิดไม่ได้ถ้าไม่มีข้อมูลจากฐานันดรที่ 4 ก่อนเพื่อต่อยอดหรือวิจารณ์หรือค้นหาความจริงจากอีกด้านหนึ่งต่อผู้รับข่าวสารได้ แถมเป็นฐานันดรที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงขององค์ระดับชาติรวมถึงผู้ปกครองเผด็จการอีกด้วย จึงไม่แปลกว่าทำไมนายอัสซาจน์กำลังกลบดานที่สถานฑูตเอกกวาดอร์ประจำลอนดอนและนายสโนว์เดนกำลังกลบดานในประเทศรัสเซียขณะนี้

เบเนดิก คัมเบอร์แบทช์          จูเลี่ยน อัสซาจน์ 

แดเนียล บรูห์
 แดเนียล ชมิท-เบิร์ก

พูดถึงวิกิลีคส์ในหนัง The Fifth Estate ต้องบอกก่อนว่า เรื่องนี้สร้างจากหนังสือ Inside WikiLeaks: My Time with Julian Assange at the World's Most Dangerous Website  ของนายแดเนียล ชมิท-เบิร์กและ WikiLeaks: Inside Julian Assange's War on Secrecy เขียนโดยนายเดวิด เลย์ และนายลุค ฮาร์ดดิ้ง นักเขียนข่าวชาวอังกฤษ 2 คน ที่อัสซาจน์อ้างว่า ”เป็นหนังสือสองเล่มที่ลวงโลก”  ที่จะกล่าวต่อไปนี้ก็คือหนังสร้างตามมุมมองของคนสร้าง คนเล่าเรื่องนี้คือคนที่อยู่ใกล้ชิดนายอัสซาจน์ขณะที่เริ่มก่อตั้งเว็บไซต์แหล่งเอกสารลับของโลกที่ใหญ่ที่สุด ใครที่ดูแล้วอาจจะมองว่าตกลงเว็บวิกิลีคส์เนี่ย อันตราย หรือ ไม่ดี หรือ เป็นเว็บทำร้ายความมั่นคงของชาติ ของบริษัทอะไรก็แล้วแต่ แต่วิกิลีคส์ก็ยังยึดมั่นความคิดเหมือนเดิมที่เปิดเผยข้อมูลออกไป เมื่อตัวหนังพยายามสร้างให้ลำเอียงและรักษาภาพพจน์ของประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งอย่างมากถ้าเราเห็นชื่อผู้ผลิตหนังก็ไม่จำเป็นต้องสงสัยใดๆ และนายชมิท-เบิร์กตอนหลังในเรื่องไม่ลงรอยกับนายอัสซาจน์ ตอนท้ายหนังจึงมีการแฉเรื่องส่วนตัวของนายอัสซาจน์ บอกเป็นนัยว่า นายอัสซาจน์ก็หลอกลวง 




The movie
The reality

เนื้อเรื่องหลักๆ ในหนังนำเสนอเรื่องความเป็นมาของเว็บวิกิลีคส์และการก่อตั้งเว็บโดยแฮคเกอร์สองคนนี้ แต่คนที่มีอุดมการณ์แข็งแกร่งที่สุดดูจะเป็น นายอัสซาจน์ เจ้าของผมขาวทั้งหัวเอง เขาตั้งเป้าอยากให้คนทั่วโลกรับรู้ข่าวที่เขาไม่เคยรู้ได้ตาสว่าง  ตอนแรกนายชมิท-เบิร์กก็มีอุดมการณ์แบบนั้น การทำงานร่วมกันภายใต้ความคิดปฏิวัติวงการสื่อนั้นอาศัยความกล้าและความหนักแน่นและยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างสุดๆ เราเลยรู้สึกว่าตอนแรกหนังนำเสนอว่าความคิดของสองคนนี้มีเหตุมีผลมากเพียงใด เหตุจูงใจที่ทำให้พวกเขาต้องทุ่มเทบินข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อเพียงให้คนทั้งโลกรับรู้ความจริง ก่อนหน้านั้นก็เปิดโปงข้อมูลฉ้อโกงภายในธนาคารสวิซฯ ธนาคารที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัยระดับโลก และการจราจลในเคนย่า จนถึงจุดพีคของเรื่องคือการเปิดโปงข้อมูลลับสุดยอดของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เอาล่ะสิ อัสซาจน์ไม่รู้ว่าตนกำลังเล่นกับใคร เมื่อเป็นเช่นนี้ ชมิท-เบิร์กเห็นว่าเสี่ยงเกินไปที่จะต่อกรณ์กับประเทศมหาอำนาจนี้จึงคิดว่าไม่ควรเผยแพร่ข้อมูลนี้จึงขอเสนอให้มีการแก้ไขเอกสานโดยเซ็นเซอร์รายชื่อบุคคลในไฟล์เอกสารทั้งหมดไม่งั้นเจ้าหน้าที่ทหารและครอบครัวของพวกเขาอาจได้รับผลกระทบจนเกิดจราจลได้ ส่วนอัสซาจน์ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเบิร์กเพราะเขายังคงยึดมั่นความคิดที่ว่าต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดไม่ขาดไม่เกิดไม่มีการแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้นและไม่ยอมให้คนที่ตายในสงครามการจราจลเสียเปล่า สุดท้ายอัสซาจน์ก็ยอมให้เบิร์กเซ็นเซอร์ชื่อทั้งหมดนั้น แต่เบิร์กลืมไปว่ามันมี 91,000 ไฟล์และต้องโพสต์ไฟล์เหล่านั้นในเว็บไซต์ภายใน 4 วัน อัสซาจน์รู้ว่าเขาทำไม่ได้แน่นอนและยังยึดมั่นในความคิดของตนเช่นเดิมว่าต้องน้ำเสนอข้อมูลอย่าง “โปร่งใส” ในขณะที่เบิร์กต้องการปกป้องรายชื่อและแหล่งข่าว(แมนนิ่ง) เหตุนี้อุดมการณ์ที่ตั้งใจไว้แต่แรกกันของทั้งสองกลับสวนทางกันในที่สุด







นอกจากจะนำเสนอเรื่องการทำงานและยังคอยบรรยายให้เห็นนายอัสซาจน์ในมุมมองของเพื่อนร่วมงาน เราจะสังเกตว่า นายอัสซาจน์จะเป็นคนขี้ระแวงและเป็นคนยอมหักไม่ยอมงอกับข้อเสนอจากเพื่อนร่วมงาน แม้กระทั่งไม่ค่อยไว้ใจพวกเขาถึงกับหลอกพวกเขาเหมือนกันเนื่องจากประสบการณ์ในอดีตที่เคยถูกเพื่อนหักหลังจึงกลายเป็นอย่างที่เห็น   เจ้าของหนังสือยังบอกว่า “เขาเป็นบ้า” “สิ่งที่เขาทำมันเสี่ยงเกินไป” เราจึงมองว่าคนเขียนคนนี้พยายามสร้างภาพอัสซาจน์ค่อนไปทางด้านลบ ทั้งเรื่องสีผมที่ไม่น่าเอามากล่าวหาอะไรได้มากนักเพราะเป็นเรื่องส่วนตัวและเรื่องเพื่อนร่วมงานอาสาสมัครที่ไร้ตัวตนซึ่งเราจะไม่เอามายึดเป็นหลักตัดสินคนได้ ฉากหนึ่งในเรื่องเมื่อเขาได้รับเชิญไปทานอาหารร่วมกับพ่อแม่ของเบิร์ก แต่กลับพูดเหน็บพวกเขาที่พวกเขาเอาหนังสือพิมพ์ระดับประเทศว่าเป็น “อนาธิปไตย” หมายความว่าอัสซาจน์ที่อยู่ในกลุ่มฐานันดรที่ 5 ต่อต้าน หนังสือพิมพ์นั้นคือตัวแทนฐานันดรที่ 4  ชัดเจน เมื่อเราดูเรื่องนี้ถึงตอนจบ บทสรุปของหนังสรุปชัดเจนว่า นายอัสซาจน์เป็นภัยร้ายของทั้งประเทศและคนใกล้ตัวมากขนาดไหนโดยในหนังแสดงให้เห็นว่า นายชมิท-เบิร์กหลังจากถูกอัสซาจน์ ”ไล่ออก” เขาจึงทำการลบข้อมูลลับสุดยอดของสหรัฐฯที่อัสซาจน์ได้มากจากแมนนิ่ง จึงทำให้เขากลายเป็น ฮีโร่กลับตัวกลับใจหรืออะไรก็แล้วแต่ไปในทันที และอัสซาจน์ดูเป็นอาชญกรละเมิดข้อมูลส่วนตัวในที่สุด  


ออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง เว็บวิกิลีคส์ก็ไม่ได้ถูกปิดแต่อย่างใด กลับยังล้วง คว้าน และเผยแพร่ข้อมูลลับต่างๆ ในโลกออกมาเสมอจนถึงวันนี้รวมทั้งข้อมูลที่ถูกลบไปโดยเพื่อนร่วมงาน ซึ่งมันผิดแผกกับในหนังที่ไม่ได้สรุปอย่างนั้น กลับสรุปถึงข่าวฉาวและการหลบเลี่ยงCIAของอัสซาจน์ กลายเป็นคนถูกทางการสหรัฐฯหมายหัวและให้คำจำกัดความว่าเป็น “กบฏ” ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่คนอเมริกันสักนิด ถ้ามองถึงอุดมการ์ของอัสซาจน์ เขาจึงกลายเป็นคนที่ไม่ได้มีเจตนาจะเป็น “ปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯ” ในมุมมองของฝ่ายตรงข้ามแต่ก็เป็นไปเสียแล้ว หากในความเป็นจริงอีกฟากหนึ่งของโลก มีเสียงอีกจำนวนมากที่ยังสนับสนุนการกระทำของเขา ไม่ได้มีแต่หนังสือของนายแดเนียล ชมิท-เบิร์กที่ออกมาเปิดโปงอัสซาจน์ ยังมีเล่มอื่นๆ ที่เขียนถึงด้านบวกของเขาเช่นกัน แต่หนังกลับไม่เอามาทำ เราจึงเหมารวมว่าเรื่องนี้เน้นทำลายอัสซาจน์มากกว่าจะนำเสนอเว็บวิกิลีคส์จริงจัง




ยังมีรายละเอียดที่สำคัญของเรื่องที่หนังไม่ได้เน้นนำเสนอกลับปล่อยผ่านและเน้นถึงความร้ายกาจของอัสซาจน์มากกว่าและรายละเอียดนั้นก็คือ ความแข็งแกร่งในการยึดมั่นอุดมการณ์ของนายอัสซาจน์ อย่างที่กล่าวไปนั้นเขาศรัทธาในอุดมการณ์มากขนาดไหนและมีอิทธิพลต่อโลกอย่างไร ในหนังคุณจะเห็นจุดนี้ของเขาพร้อมทั้งรักษาความน่าเชื่อถือแก่ผู้ให้ข้อมูลอีกเช่นกัน พูดถึงตรงนี้เลยนึกถึงฉากหนึ่งในเรื่องเมื่อแมนนิ่งผู้ปล่อยข้อมูลลับระดับโลกตกเป็นข่าวบนหน้าเว็บไซต์ อัสซาจน์จึงบอกเพื่อนร่วมทีมให้จ้างทนายคุ้มครองแมนนิ่ง จุดนี้หนังกลับเล่าแบบผ่านไปไม่ได้เน้นแต่อย่างใด กลับไปเน้นตอนที่ อัสซาจน์ กับ เบิร์กถกเรื่องการเปิดเผยข้อมูลในรถไฟใต้ดินที่เบลเยี่ยม และเบิร์กตอบโต้อุดมการณ์ของอัสซาจน์ว่า “ฉันนึกว่าเราต้องการปกป้องแหล่งข้อมูลของเรามากกว่า” น่าสงสัยว่าทั้งเรื่องก็เน้นย้ำโต้งๆ อยู่แล้วว่าอัสซาจน์เน้นการเปิดเผยแบบดิบมากแค่ไหน แต่ใยเบิร์กถึงโต้อัสซาจน์แบบนั้น   




เราอาจจะสงสัยว่าข้อมูลวิกิลีคส์นั้นเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ช่วงต้นของหนังจะเห็นว่าช่วงหนึ่งเว็บไซต์ถูกแบนเพราะให้ข้อมูลเท็จ เป็นอันตราย (นึกถึงเวลาไอซีทีแบนเว็บ) หรืออะไรก็ตามสืบเนื่องจากข่าวคอรัปชั่นของธนาคารสวิซฯ สักพักเว็บไวต์กลับมาออนไลน์ได้อีกครั้ง เห็นได้ชัดว่าข้อมูลที่นำเสนอในเว็บล้วนตรวจสอบและเชื่อถือได้มากที่สุดเพราะข้อมูลที่เปิดเผยล้วนเป็นข้อมูลดิบที่เผยรายชื่อผู้กระทำ ผู้สวมรู้ร่วมคิดในเอกสารทั้งหมดและนำไปใช้เป็นหลักฐานได้จากผู้ที่อาสาปล่อยข่าวที่ไม่ต้องการบอกชื่อ เว็บวิกิลีคส์จึงเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญเว็บหนึ่งที่ทำให้เรารู้จักโลกอีกด้านหนึ่งที่ถูกปิดมานานและไม่ได้อยู่ในกะลาอีกต่อไป และยังมีนโยบายในการปกป้องแหล่งข่าว พูดได้ว่าเป็นทั้งกระบอกเสียงและหน้ากากป้องกันของแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เอ่ยนามเพื่อแบ่งปันข้อมูลแก่เว็บไซต์โดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ


ผลงานที่เรารู้จัก กำกับโดย บิลล์ คอนดอน

ฉากตอนแดเนียลทำงานไป ฟังเพลงอิเลคโทรไป รู้สึกถึงบรรยากาศได้


มามองในมุมมองคนดูหนังที่มีต่อการดำเนินเรื่องและการถ่ายทำของหนัง The Fifth Estate กำกับโดยบิลล์ คอนดอน เจ้าของหนังที่ผ่านมาได้แก่ Dream Girls, Twilight: Breaking Dawn part 1 and 2 เราชอบฝีมือการกำกับของคนนี้ตรงที่เขาจะเน้นการใช้เสียงเพลงได้ดีต่อให้หนังเรื่องนั้นไม่ใช่หนังเพลงก็ตาม ในหนังเราจะเห็นและได้ยินเสียงเพลงแนวเทคโนอิเลคโทรซึ่งเหมาะกับบรรยากาศนักโปรแกรและนักแฮคเกอร์อย่างตัวเอกของเรื่อง สื่อถึงยุคสมัยใหม่ของอินเทอร์เน็ตและวิวัฒนาการเทคโลยีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความคิดที่ก้าวหน้าของนักปฏิวัติของเรื่อง   นอกจากเสียงเพลง เราขอชื่นชมการเปรียบเทียบนามธรรมเป็นรูปธรรมของเรื่อง เรามองว่าเป็นนี่คือจุดเด่นของเรื่องนี้ คอนดอนคงต้องการให้คนดูเข้าใจและเห็นภาพการทำงานของวิกิลีคส์ว่าทำงานกันอย่างไรโดยการจำลองห้องทำงานขนาดใหญ่สุดลูกหูลูกตาของวิกิลีคส์ว่ามีใครทำงานบ้าง รูปแบบลักษณะข้อมูลจากไฟล์ให้เป็นเอกสารกระดาษจัดเก็บอย่างไร ยังไม่พอการดำเนินการตัดต่อนั้นไม่ขาดช่วงเป็นเรื่องเป็นราวดูแล้วเข้าใจ แต่สิ่งที่น่าติอยู่อย่างเดียวดั่งที่กล่าวไว้คือเรื่องการเน้นมุมมองว่าอัสซาจน์ในภาพพจน์ทางลบและไม่ชูส่วนดีของเขากลับเล่าแบบผ่านแล้วผ่านเลย น่าจะเป็นที่มาว่าทำไมคนที่เห็นด้วยกับการกระทำของอัสซาจน์จะไม่ค่อยปลื้มหนังเรื่องนี้มากนัก ยิ่งเห็นคะแนนในIMDB ปัญหาจึงไม่ได้เป็นที่เนื้อเรื่องหรือการถ่ายทำ น่าจะเป็นการเน้นนำเสนออย่างไม่เท่าเทียมและลำเอียงไปทางมุมมองคนเขียนหนังสืออย่างเบิร์กนั่นเอง



ที่ขาดไม่ได้เลยนักแสดงของเรื่อง โดยเฉพาะAntagonistโดยไม่เป็นใจอย่างนายอัสซาจน์ นำแสดงโดย เบเนดิก คัมเบอร์แบทช์ นักแสดงชาวอังกฤษที่ดัง(มากๆและคนเขียนก็ชอบมากๆ) จากบทเชอร์ล็อคในซีรี่ส์อังกฤษชื่อเดียวกัน บทคาน จากเรื่อง สตาร์ เทรค อินทู เดอะ ดาร์คเนส และ มังกรสมอค จากเดอะฮอบบิทภาค 2 นับว่าปีที่แล้วเป็นปีที่เราได้เห็นเขาโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มตลอดปีเลยทีเดียว   บทอัสซาจน์เป็นบทที่ท้าทายสำหรับคัมเบอร์แบทช์เช่นกัน เมื่อเขาต้องการจะศึกษาคาแรกเตอร์ของ จูเลี่ยน อัสซาจน์ เขาได้พยายามติดต่อเจ้าของเว็บวิกิลีคส์ให้ได้แต่ไม่ง่ายนักที่จะติดต่อผู้ที่กลบดานCIAอยู่ โชคช่วยเมื่อนายอัสซาจน์ตัวจริงตอบจดหมายคัมเบอร์แบทช์ด้วยการเตือนแบบหวังดีว่า “เขานั้นเป็นนักแสดงที่มีความสามารถ แต่คุณไม่ควรตกเป็นเครื่องมือให้คนสร้างหนัง” “หนังเรื่องนี้ไม่มีความจริงใดๆ เลย” จูเลี่ยนถึงกล่าวกับคัมเบอร์แบทช์ว่า เขาจะถูกใช้เป็น “ปืนรับจ้าง” อย่างไม่ได้ตั้งใจ เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราได้เห็นอัสซาจน์ตัวจริงต่อต้านระบบสื่อในฐานันดรที่ 4 อย่างไร ถ้าอยากรู้ข่าวเพิ่มเติม สามารถเสิร์ชในยูทูปหรือกูเกิ้ลได้ว่า Assange VS Fifth Estate   นับว่าทำให้คัมเบอร์แบทช์เป็นที่รู้จักในวงการไซเบอร์และวิสเซิลโบลเวอร์กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่อัสซาจน์เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับบทภาพยนตร์ ถึงขั้นต้องเขียนแถลงการณ์ในเว็บกระบอกเสียงของเขา บทภาพยนตร์ที่ทางวิกิลีคส์แถลง ข่าวจากอีกแหล่งก็ได้บอกว่า นักแสดงตัวเอกของเรื่องก็มีปัญหากับบทอัสซาจน์เช่นกัน ต่อให้เขาพูดด้านดีของหนังก็ตามเพราะเป็นอาชีพของเขา เราในฐานะคนดูขอชื่นชมนักแสดงคนนี้ที่เขาพยายามติดต่อเจ้าของเว็บเพื่อสร้างหนัง และอีกอย่างที่รู้สึกทึ่งคือ ทักษะการแสดงที่เราไม่ได้ติดภาพจากบทเชอร์ล็อค หรือ คานเลย พูดง่ายๆ เราดูหนังไปไม่ได้คิดเลยว่าเนี่ยเบเนดิกแสดงอยู่ (555+) และที่น่าทึ่งคือ การพูดภาษาอังกฤษสำเนียงออสเตรเลีย (นายอัสซาจน์เป็นชาวออสเตรเลีย) ถ้าเราเคยฟังหนังฝั่งเกาะอังกฤษกับฝั่งอเมริกาเราจะเห็นความแตกต่างชัดเจน แต่เมื่อเราฟังสำเนียงอังกฤษกับออสเตรเลียอาจจะแยกยาก แต่เมื่อดูเรื่องนี้เลยเห็นความแตกต่างของ 2 สำเนียงชัดเจนโดยสำเนียงออสเตรเลียเหมือนจะเสียงสูงมากกว่าสำเนียงอังกฤษดูเหมือนอยู่ในควานทรี่มากกว่าสำเนียงแบบอังกฤษ

เบเนดิก คัมเบอร์แบทช์ รับบทเป็น เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ในซีรี่ส์เชอร์ล็อก

เบเนดิก คัมเบอร์แบทช์ รับบทเป็น คาน/จอห์น แฮริสสัน ในหนังฟอร์มยักษ์ภาคต่อของ Star Trek

โดยรวมของหนัง เรื่องนี้เป็นหนังเกี่ยวกับวิกิลีคส์ แต่ไม่ได้พูดถึงวิกิลีคส์อย่างที่โปรโมทไว้ จะเน้นการร่วมกันทำงานของอัสซาจน์กับเพื่อนร่วมทีมอย่าง เบิร์กและคนอื่นๆ มากกว่า อันนำไปสู้บทสรุปที่ไม่สวยงามเสียเท่าไร เพราะฉะนั้นหนัง The Fifth Estate เรื่องนี้เหมาะกับผู้ที่อยากรู้การทำงานของวิกิลีคส์หรือเบื้องหลัง “อีกมุม” เล่าโดยมุมมองคนร่วมงาน และแนะนำอย่างยิ่งว่าควรศึกษาข่าวเกี่ยวกับวิกิลีคส์และนายจูเลี่ยน อัสซาจน์ก่อนที่จะรับชมเรื่องนี้จะได้ไม่เสียอรรถรสและติดตามและเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น ถ้าเราจะให้คะแนนเต็มสิบ เราจะเทคะแนนให้กับผู้กำกับ 8.2/10 อย่างที่กล่าวเหตุผลไว้ข้างต้น นักแสดง 8.5/10 เนื่องจากเราไปดูการพูดของนายอัสซาจน์ตัวจริง ไม่ได้เป็นอย่างในเรื่อง แต่ก็นะ หนังควรเน้นอารมณ์มากกว่า น้ำเสียงการพูดของนักแสดงจึงถูกสร้างให้น่าดึงดูดและมีอารมณ์ร่วมด้วยตามแบบฉบับของหนัง และเนื้อเรื่อง 6.5/10 อย่างไม่ต้องสงสัย ที่น่าเสียดายที่สุดคือถ้าผู้กำกับและคนเขียนบทจะเน้นความสำคัญของตัวละครอย่างเท่าเทียมกันโดนไม่โอนเอนไปฝั่งมุมมองคนเขียนหนังสือ หนังเรื่องนี้จะกลายเป็นหนังวิกิลีคส์ที่ไม่ใช่แอนตี้วิกิลีคส์อย่างที่ว่ากันในโลกออนไลน์ แต่อย่างไรก็ดี ทีมผู้สร้างก็ต้องคำนึงถึงสัญชาติของค่ายหนังและเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคงของเจ้าของประเทศอยู่ดี ไม่เช่นนั้น The Fifth Estate จะกลายเป็นหนังแอนตี้สหรัฐฯ แทนได้


J.M.


-------------------------------------------------------------------------------------------------------

references:
en.wikipedia.org/wiki/Fifth_Estate
en.wikipedia.org/wiki/Estates_of_the_Realm
en.wikipedia.org/wiki/The_Fifth_Estate_(film)
wikileaks.org
wikileaks.org/The-Fifth-Estate.html
www.poynter.org/latest-news/top-stories/98781/balloon-boy-story-reveals-differences-between-fourth-and-fifth-estates
www.newstalk.ie/Benedict-Cumberbatch-defends-his-role-in-The-Fifth-Estate
www.newstalk.ie/Julian-Assange-vs-The-Fifth-Estate-
en.wikipedia.org/wiki/Estates_of_the_Realm
www.youtube.com/watch?v=5yB3n9fu-rM
en.wikipedia.org/wiki/Daniel_Domscheit-Berg
imdb.com
rjmorwood.wordpress.com

Images: Google.com

4 ความคิดเห็น:

  1. พึ่งดูหนังจบครับ เลยหาข้อมูลต่อ มาเจอบทความของคุณครับ เจ๋งดีครับ

    ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  2. อ่านแล้วดูหนังสนุกขึ้นเป็นกอง

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะคะ:)

    ตอบลบ

ขอบคุณสำหรับคอมเม้นท์ล่วงหน้านะคะ
Thanks for the comments in advance!

Melody of My Life

ผู้ติดตาม